SARABURI
PROVINCIAL ADMINISTRATIVE ORGANIZATION
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี
งานส่งเสริมการท่องเที่ยว อบจ.สระบุรี
10 เรื่องน่ารู้
ในการเตรียมตัวเดินทาง เที่ยวป่า ในช่วงฤดูฝน สำรวจธรรมชาติของ
Green Season
การเดินทาง เที่ยวป่า ในช่วงหน้าฝนอันชุ่มฉ่ำ Green Season เขียวขจี สัมผัสไอดิน กลิ่นฝน สายน้ำแห่งชีวิต ท่ามกลางภูเขา
ต้นไม้ผืนใหญ่มหึมา ช่างเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น ท้าทายนักผจญภัยเป็นอย่างมาก แต่แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่ควรคำนึงถึง นั่นคือความปลอดภัยเป็นอันดับแรกเพื่อให้การท่องเที่ยวในป่าของคุณไม่สะดุดเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างแท้จริง ต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมให้ดีเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วอยู่ตลอดเวลาทั้งร้อนชื้น แดดออก และฝนกระหน่ำ ขอแนะนำ 10 วิธีการเตรียมพร้อมเพื่อการเดินป่าท่องเที่ยวในช่วงหน้าฝน พร้อมกับทริคเคล็ดลับและสิ่งที่ต้องระวังน่ารู้
1. ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง
การตรวจสอบสภาพอากาศก่อนการเดินทางเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากป่าในช่วงหน้าฝนอาจมีฝนตกหนักได้ตลอดเวลา ควรตรวจสอบข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาในการพยากรณ์อากาศอยู่เสมอ เพื่อประเมินเส้นทางหลีกเลี่ยงช่วงเวลาอันตราย ผ่านเครื่องมือสื่อสารหรือแอปพลิเคชัน ที่ให้ข้อมูลอากาศอัพเดตล่าสุด
2. เตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสม
การเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเดินป่าช่วงหน้าฝน ควรมีเสื้อและหมวกกันฝนที่ทนทานเพื่อป้องกันการเปียกปอนนอกจากนี้ควรใส่เสื้อผ้าที่สามารถแห้งได้ง่ายและรองเท้าเดินป่าที่มีความแข็งแรงและกันน้ำ เพื่อป้องกันการลื่นไถลในทางดินสกปรก รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ในการดำรงชีพในป่า หากมีการค้างคืนนอนเต็นท์ เช่น อุปกรณ์ฉุกเฉิน ไฟฉายและแบตเตอรี่สำรอง แผนที่และเข็มทิศ ชุดเครื่องครัว กระบอกน้ำ ไม้เท้า และ อย่าลืมพกรองเท้าแตะไปด้วยทุกครั้ง
3. เครื่องมือนำทาง
การใช้เครื่องมือนำทางเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อเดินทางในป่า ควรใช้แผนที่อัพเดตล่าสุดของพื้นที่ป่านั้น ๆ หรือใช้เครื่องมือนำทางอื่น ๆ เช่น เข็มทิศ ระบบ GPS ของเครื่องมือสื่อสารในโทรศัพท์ เพื่อช่วยในการเดินทางไปสู่จุดหมายอย่างแม่นยำ และติดตามตำแหน่งของคุณ อยู่ตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัย อีกทั้งการศึกษาเส้นทางล่วงหน้าจาก Website อินเตอร์เน็ต สอบถามผู้รู้ เจ้าหน้าที่อุทยานก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก
4. เตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอ
อย่าลืมคำนึงถึงการเตรียมอาหารและน้ำเพียงพอ เนื่องจากการเดินทางในป่าอาจใช้เวลานานหรืออาจเป็นการพักแรมข้ามคืนแล้วด้วยนั้น การเติมพลังงาน การบำรุงร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ควรนำอาหารและน้ำที่มีปริมาณพอเหมาะไม่เยอะจนเป็นภาระ หรือน้อยไปจนไม่เพียงพอ คำนวณคุณค่าสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับ เพื่อสร้างให้ร่างกายแข็งแรงปลอดภัยต่อโรคได้ เช่น ข้าวสาร เส้นพาสต้า ซุปผง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารในรูปแบบผงต่าง ๆ ประเภท แกง ข้าวปรุงรสชนิดซอง ขนมขบเคี้ยว ผงเครื่องดื่ม น้ำบรรจุขวด เครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ เป็นต้น
5. รักษาสิ่งแวดล้อม
การเดินทางท่องเที่ยวในป่านั้น ให้เราเข้าไปเพื่อเสพความงามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีค่าเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการเข้าไปทำลายธรรมชาติ
ของป่าเขา ที่เป็นสิ่งแวดล้อมดั่งเดิม เช่น การไม่ทิ้งขยะ จัดการของเสียให้ถูกวิธี ห้ามตัดไม้ทำลายป่า หรือทำลาย บุกรุก รบกวนแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า
6. ระวังการเดินในพื้นที่ลื่นไถล เสี่ยงดินถล่ม น้ำป่า
ด้วยปริมาณน้ำฝนจำนวนมากส่งผลให้สภาพพื้นดินเปียกลื่นทรงตัวได้ยากอาจะเกิดการลื่นไถล ควรเลือกเส้นทางที่มีพื้นดินที่แข็งแรง มีการระบายน้ำได้ดี ใช้รองเท้าที่มียางเกาะหรือพื้นรองเท้าที่มีการป้องกันการลื่นได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยขณะเดินทางในป่า หรืออาจะใช้อุปกรณ์ช่วยประเภทไม้เท้าหรือกิ่งไม้ก็เป็นตัวเลือกที่ดี รวมถึงให้สังเกตโอกาสเสี่ยงต่อดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ด้วย
7. เตรียมเสื้อผ้าสำรองและถุงพลาสติก
การที่ตัวเปียกอยู่ตลอดเวลาคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะนอกจากจะทำให้เราไม่สบายตัวแล้วก็อาจทำให้เจ็บป่วยขึ้นมาได้
เพราะความหนาวเย็นอาจทำให้เราเป็นตะคริว ควรเตรียมชุดสำรองและผ้าแห้งไปให้พร้อม รวมถึงพลาสติกสารพัดประโยชน์
ที่นอกจากจะกันน้ำได้ดีแล้ว ก็สามารถนำไปบรรจุเสื้อผ้า สิ่งของต่าง ๆ เพื่อกันเปียก สวมศรีษะ รองนั่ง หรือใส่ขยะได้อีกด้วย
8. หลีกเลี่ยงเส้นทางอันตราย ศึกษาทักษะเอาตัวรอดในป่าเบื้องต้น
ในช่วงหน้าฝนอาจมีการเปลี่ยนเส้นทางของทางน้ำได้ ควรระวังการเดินผ่านพื้นที่ที่สายน้ำไหลลึกโค้งหรือในป่าใหญ่ ไม่ควรเดินป่าเพียงลำพัง เพราะหากได้รับอันตรายอาจไม่มีใครช่วยเหลือได้ทัน หรือทำให้พลัดหลงได้ หลีกเลี่ยงการเดินป่าในเส้นทางที่มีโขดหิน ชื้นแฉะ
เพราะเสี่ยงต่อการลื่นไถล และพลัดตกได้ ห้ามลืมยาและเครื่องปฐมพยาบาลเบื้องต้น และวิธีการเอาตัวรอดกรณีฉุกเฉิน เช่น การใช้มีดพก เชือก เข็มทิศ นกหวีด มีสติ หาทางออกที่คิดว่าใกล้ที่สุด
9. ระวังเส้นทางเดินของสัตว์ป่า
ในช่วงหน้าฝนสัตว์ในป่าอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนในฤดูกาลอื่น อาจมีสัตว์ที่ออกมาหาอาหารหรือที่อยู่ใหม่ เมื่อฝนตกหนักควรระมัดระวังการเดินทางโดยเฉพาะในเขตที่จะมีสัตว์ร้ายที่อาจเป็นอันตรายอาศัยอยู่ เช่น ช้าง เสือ กวาง หมูป่า งู สัตว์เลื้อยคลาน แมลงมีพิษ
หรือจำพวกทาก ไม่ควรตั้งค่ายพักแรมที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น ๆ เป็นอันขาด
10. ศึกษาคู่มือและปฏิบัติตามคำแนะนำของคนในท้องที่อย่างเคร่งครัด
ทุกพื้นที่มีลักษณะความพิเศษที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ป่าลึก ลำธาร อุทยานแห่งชาติ หรือเขตอนุรักษ์ ก็ล้วนแล้วแต่มีภูมิประเทศอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นักท่องเที่ยวควรศึกษาคู่มือ สอบถามไกด์ท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เช่น เจ้าหน้าที่อุทยาน
หรือชาวบ้าน เกี่ยวกับเส้นทาง สภาพธรรมชาติ หรือสิ่งที่ควรระวังในพื้นที่นั้น ๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
เครดิตเนื้อหา : www.lifestyleasia.com
เครดิตภาพ : www.freepik.com